วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Environment and Development Midterm Score

The link for the Midterm score announcement has been shown as follow. If there is any question/concern about it or some of you may want to withdraw the course please feel free contact Aj.Chalongrat at chalongrat.cha@mfu.ac.th as soon as possible

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Cultural Studies Midterm Score 1-2010

The link for the Midterm score announcement has been shown as follow. If there is any question/concern about it or some of you may want to withdraw the course please feel free contact Aj.Chalongrat at chalongrat.cha@mfu.ac.th as soon as possible.

วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

...ความทรงจำในการข้ามปีที่อินเดีย (๒)...

...ควานหารูปในกรุคอมพิวเตอร์เสียนาน ที่สุดก็ได้มาครับพี่น้อง ถ้าหายไปคงแย่ เพราะมันกลับไปฉายได้ยากเต็มที...
.

"ชักนาคดึกดำบรรพ์ " จุดหมายตาและรวมพลที่สำคัญในพื้นที่ขาออก

...ดังได้เกริ่นไว้แล้วว่าหมู่คณะเราได้วางแผนในการเพื่อไปจาริกแสวงบุญไว้นานพอควร ทั้งอ่านหนังสือ เช็คข้อมูลในเว็บไซต์ต่างๆ กระทั่งดูสารคดี ดังนั้นการเดินทางครั้งนี้จึงไม่ต่างอะไรจากการที่เราได้ฟังใครต่อใครเล่าให้ฟัง ทำนองว่า "เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย" ที่ทำให้อยากไปเจอ ไปเห็นโดยเร็ววัน...ดังนั้นในไม่ช้า เพื่อนเดินทางทั้งสองหน่อจึงไม่รีรอที่จะมาปรากฏตัวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงปลายปีนั้นเพื่อจับเที่ยวบินจากกรุงเทพฯไปยังท่าอากาศยานเมืองคยา ก่อนเดินทาง เราพยายามสำรวจเพื่อนร่วมทางด้วยสายตา พบว่าล้วนแต่เป็นศาสนิกชนที่ต้องการไปแสวงหาแบบที่เราทำเหมือนกันทั้งสิ้น ต่างกันก็เพียงเครื่องแบบ และภาษาเท่านั้น...


...ราว ๔ ชั่วโมงบนเครื่องผ่านไปแบบเรื่อยๆ เอื่อยๆ ที่สุดแล้วเครื่องบินก็ร่อนลงแตะรันเวย์ของท่าอากาศยานที่มีสภาพค่อนข้างจะใหม่โดยสวัสดี ทั้งแขก ไทย จีน เกาหลี ที่โดยสารเครื่องต่างก็เตรียมตัวขนย้ายสัมภาระส่วนตนเพื่อลงจากเครื่องไปทำเรื่องตรวจคนเข้าเมืองภายในสำนักงาน คณะเรายังคงนั่งอยู่กับที่เพื่อรอให้คนที่เขารีบ (ซึ่งก็ไม่ใคร่เข้าใจว่าจะรีบไปไหน) ลงไปเสียก่อน จะได้ไม่รู้สึกวุ่นวายไปกับเขา เพราะตะละคนที่หมายใจมาทำบุญนั้นก็หอบข้าวของบรรดามีซึ่งนำมาแต่บ้านเกิดเมืองนอน ล้วนแล้วเป็นของที่เลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดีด้วยเชื่อว่าความดีที่อุตสาหะปราณีตบรรจงประกอบขึ้นนั้นจะช่วยทำให้ได้บุญมาก เพื่อไม่ให้เขาจิตตกเพราะความวุ่นวายที่สนามบิน การที่เราและหลายๆ คนนั่งอยู่กับที่ก็ช่วยได้มาก...



น้อง "ศรีษะเกษ" ที่พาเราบินตรงจากสุวรรณภูมิ ยืนสงบนิ่งอยู่ ณ รันเวย์เมืองคยา

....ขณะที่เรานั่งรอเวลาอยู่นั้น คุณสจ๊วตท่านหนึ่ง ที่บริการพวกเราบนเครื่องก็นำถุงกระดาษใบหนึ่งมาให้ ภายในบรรจุไว้ด้วยน้ำเต้าหู้สำเร็จรูปตรานางพยาบาลสองขวดพร้อมหลอดดูดมาให้ บอกว่าลูกศิษย์ที่ฝึกงานอยู่ที่สุวรรณภูมิที่แวะเข้ามาทักทายกันก่อนเดินทางฝากมาเทคแคร์ ครั้นจะให้ตั้งแต่เครื่องออกก็เกรงว่าจะเกินหน้าเกินตาผู้โดยสารท่านอื่น เลยบรรจงเอาลงถุงกระดาษแช่ไว้ในตู้เย็น แล้วนำมามอบให้ตอนจะลงเครื่องไว้เป็นเสบียงเบื้องต้นเมื่อต้องผจญภัยในแดนภารตะ เราก็รับไว้ด้วยน้ำใจสำนึกขอบคุณ แต่อารมณ์เวลานั้นไม่ได้นึกอยากกินอะไร จึงหมายใจว่าเมื่อถึงโรงแรมที่พุทธคยาแล้วก็จะรีบเอาเข้าตู้แช่ทันทีเพื่อนำไปถวายแก่พระภิกษุที่มาปฏิบัติธรรม ณ พระมหาวิหารในวันรุ่งขึ้น ในใจก็นึกขอให้ลูกศิษย์คนนั้น และคุณสจ๊วตที่เราเองก็จำชื่อเขาไม่ได้ จงมีสิทธิ์มีส่วนในกุศลกรรมนี้ เหมือนๆ กันกับเราด้วยก็แล้วกัน...ว่าแล้วก็ร่ำลากันลงจากเครื่อง...


ทุกคนเดินตามเส้นสีเหลืองนี้เข้าไปเพื่อทำพิธีการตรวจคนเข้าเมืองในท่าอากาศยาน

...ทันทีที่เดินออกจากประตูเครื่อง "ศรีษะเกษ" สายลมภายนอกก็พัดพาเอาไอร้อนของแดดบ่ายเมื่อปลายปีโชยมาปะทะกับใบหน้าทันที พวกเราไม่รีรอรีบลงบันไดเทียบข้างที่ทางท่าอากาศยานจัดให้เนื่องจากไม่มีงวงมารับเพราะนานๆ ทีจะมีเครื่องลง สิ่งที่เราได้พบเสมือนเป็นคำกล่าวทักทายของเมืองคยา (GAYA) ก็คือ เสียงบทสวดไตรสรณคมน์แบบเย็นๆ หลอนๆ ที่เราได้ยินในเสียงตามสายตั้งแต่เด็กๆ ว่า "....ผุทธัง...ซารานัง...กัดช้า....มี....ฯลฯ..." (พุทธัง สรณัง คัจฉามิ) ...อารมณ์ในเวลานั้นไม่มีอะไรอื่นนอกจากรู้สึกเอาเองว่า "...ยินดีต้อนรับ...ต่อจากนี้ไป เอ็งพึ่งใครไม่ได้แล้ว นึกถึงคุณพระคุณเจ้าเอาไว้ให้ดีก็แล้วกันนะ..."



ด้านหน้าท่าอากาศยานเมืองคยา ที่ว่างๆ โล่งๆ มีแต่พี่น้องแท็กซี่ที่มารอลูกค้า

...ด้วยความที่เรามีสัมภาระไม่มากนัก ทำให้เราผ่านการตรวจคนเข้าเมืองมาได้ค่อนข้างเร็ว เจ้าหน้าที่เขาก็มีอัธยาศัยน้ำใจไมตรีดี ซึ่งดูเหมือนว่าในวันที่เราไปถึงนั้นคงมีเพียงเที่ยวบินเดียวที่ลงจอด ท่าอากาศยานจึงเงียบสงบราวกับว่าไม่มีใครอยู่แถวนั้น เราเดินผ่านโถงกลางที่มีพระพุทธรูปขนาดพอๆ กันกับพระประธานในโบสถ์องค์หนึ่ง ยิ่งทำให้รู้สึกว่าอาคารแห่งนี้เหมือนกับสถานปฏิบัติธรรมที่ไหนสักแห่ง จากนั้นก็ไม่รอช้า รีบว่าแท็กซี่เข้าเมืองก่อน เพื่อไปจัดการเรื่องเปลี่ยนตั๋วรถไฟ ที่จองกันไว้ก่อนมาแล้วแต่เราต้องเปลี่ยนกำหนดเดินทาง สนนราคาค่าแท็กซี่เป็นอย่างไรก็จำได้ไม่ถนัดนัก พอนึกออกเพียงว่าบอกผ่านไปมากสำหรับเรา แต่พอนึกได้ว่านี่มันต่างบ้านต่างเมือง และเราก็มาในฐานะนักท่องเที่ยว ก็เลยไม่ถือ แต่เราก็พยายามต่อรองให้เยอะว่าให้รวมทั้งเข้าเมืองและออกไปที่พุทธคยาด้วย หากเอาท่าอากาศยานเป็นจุดศูนย์กลาง เข้าเมืองต้องออกไปทางซ้าย ส่วนพุทธคยาต้องเลี้ยวขวา ประมาณนี้ คะเนจากระยะทางที่จะต้องเดินทางกันแล้ว จ่ายค่าแท็กซี่ในราคานั้นก็นับว่าคุ้มแล้ว...

...แท็กซี่แบบลุยๆ ที่หาได้ทั่วไปตามท่าอากาศยานและสถานีรถไฟ...

...น้องโชเฟอร์ใจดีพาเราซอกแซกเข้าสู่ตัวเมืองคยาอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะมีผู้ร่วมทางจำนวนมาก เพราะถนนที่ใช้กันอยู่นั้นเป็นแบบสองช่องทางจราจร ทั้งคน ทั้งรถเล็กรถใหญ่ ทั้งเกวียน สามล้อ มอเตอร์ไซคล์ และวัว!! ต่างก็สัญจรไปบนทางสายเดียวกัน ระหว่างทางนั้นเราก็เห็นอะไรต่ออะไรมากมาย ซึ่งทำให้เราแจ้งใจได้ทันทีว่าทำไม่ที่นี่ถึงมีศาสดาเจ้าลัทธิมากมายนัก เพราะว่าทุกข์มันมีให้เห็นอยู่ทั่วไปจริงๆ (มีทุกข์มากขึ้นอีกนิดตรงที่น้องแกพยายามที่จะเอนเตอร์เทนเราด้วยการเปิดเทปเพลงแขกประกอบการโขยกเขย่าของรถที่วิ่งไปตามถนนที่ค่อนข้างจะจอแจเคล้าไปกับเสียงแตรที่เกิดขึ้นตลอดเวลา) พึงทราบว่าที่อินเดีย (เท่าที่เห็นมาในทริปนี้) การกดแตรสัญญาณนับว่าเป็นภาษาหนึ่งที่ใช้ในการสื่อสารเหมือนมนุษย์พูดกัน ผู้คนที่สัญจรไปมากดแตรให้กันก็จริง แต่ก็ไม่ได้กดแบบอารมณ์เสียเหมือนในบ้านเราที่กดไปก็สบถไป...ที่สุดแล้วก็ถึงสถานีรถไฟเมืองคยา พี่ที่ไปด้วยรับที่จะไปคุยกับคนออกตั๋วที่เคาน์เตอร์ ค่าที่เป็นผู้สั่งจองมา ซึ่งการจองตั๋วรถไฟในคราวนั้น เราฝากเอเจนซี่จองและนำตั๋วกลับมาให้จากอินเดียส่งมาถึงเชียงรายโดยทางไปรษณีย์ ซึ่งพี่คนนี้แกเป็นคนจัดการทั้งหมด เลยต้องเข้าไปคุยเอง...


...บรรยากาศการรอรถไฟและรอญาติๆ ที่หน้าสถานีรถไฟเมืองคยา...

...เสร็จธุระเรื่องตั๋วรถไฟแล้ว เหลือบมองนาฬิกาก็ใกล้จะหกโมงเย็นแล้ว เรายังคงต้องรีบออกจากเมืองไปเข้าที่พักที่พุทธคยา โชเฟอร์คนเดิมก็พาเราออกจากเมืองไปอย่างรวดเร็วไม่แพ้ขามา สายตาของคณะเราเริ่มชินกับภาพของอินเดียที่ไม่ต่างจากที่เราเตรียมข้อมูลกันมาก่อนมากนัก เพลงเริ่มเบาลง เพราะเราต้องตกลงให้เขามารับเราไปส่งสถานีรถไฟอีกรอบหนึ่งในอีกสองวันเพื่อเตรียมเดินทางต่อไปที่สารนาถและพาราณสี ซึ่งก็มีการแลกเบอร์โทรศัพท์กันเรียบร้อยก่อนจาก...

...พระมหาโพธิวิหารในยามค่ำ...

...ราวทุ่มเศษเราเดินทางมาถึงโรงแรมที่ได้จองไว้คือโรงแรมมหามายาซึ่งอยู่ตรงข้ามกันกับพระมหาวิหารพอดี เป็นโรงแรมขนาดเล็กแบบทาวน์เฮ้าส์ยาวๆ หน้ากว้างประมาณ ๓ คูหา สูงราว ๓-๔ ชั้น ซึ่งเดินจากโรงแรมไม่ถึงรอบสนามฟุตบอลก็ถึงประตูใหญ่พระมหาโพธิวิหาร วันนั้นเราเช็คอินเสร็จแล้วจึงออกไปสำรวจเบื้องต้นเพื่อดูถนนหนทางและของกินบางอย่างด้านนอก ก่อนที่จะกลับมาที่ห้องพักพร้อมส้มและแอ็ปเปิล อย่างละหนึ่งกิโล ซึ่งเราจะใช้มันล้างปากหลังจากจัดการกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พกพาไปด้วย จากนั้นก็อาบน้ำนอนตามอัธยาศัย เตรียมตัวไว้สำหรับโปรแกรมวันรุ่งขึ้น...

*****************************************

...หมายเหตุ ภาพทั้งหมดนี้ Ch@ros ฉายเอง...


.

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

...วันลูกเสือ...

ข้าฯ ลูกเสือ เชื้อไทย ใจเคารพ ขอน้อมนบ บาทบงสุ์ พระทรงศรี
พระบาท มงกุฏเกล้า จอมเมาลี ทรงปรานีก่อเกื้อ ลูกเสือมา
ทรงอุตสาห์ อบรม บ่มนิสัย ให้มีใจรักชาติ ศาสนา
ทรงสั่งสอน สรรพกิจ วิทยา เป็นอาภาผ่องพุทธิ์ วุฒิไกร
ดั่งดวงจัน-... ทราทิตย์ ประสิทธิ์แสง กระจ่างแจ้งแจ่มภพ สบสมัย
พระคุณนี้ จะสถิต สนิทใน ดวงหทัยทวยราษฎร์ ไม่คลาด...เอย
.
.
.
...ไม่มีอะไร แค่คิดถึงวันนี้เมื่อหลายๆ ปีก่อน สมัยยังเป็นลูกเสือ ต้องไปร้องเพลงนี้ตลอดทุกปี...
...ความเยาว์วัยนี้จากเราไปไวจริงๆ...
.
****************************
ลูกเสือมาจากคำว่า SCOUT ซึ่งมีความหมายดังนี้
- S : Sincerity หมายถึง ความจริงใจ มีน้ำใสใจจริงต่อกัน
- C : Courtesy หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้มีมารยาทดี
- O : Obedience หมายถึง การเชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในโอวาท
- U : Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้รักสามัคคี
- T : Thrifty หมายถึง ความมัธยัสถ์ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

...จริงๆ แล้วการเป็นลูกเสือสอนให้เราเป็นสุภาพบุรุษ เป็นสุภาพชน การขาดการเน้นย้ำและหมั่นฝึกฝน ทำให้เราลืมเลือนสิ่งนั้นไปอย่างน่าเสียดาย...
***************************
.

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

...ความทรงจำในการข้ามปีที่อินเดีย....(๑)

...ไม่บ่อยนักที่ผมไปทำอะไรในช่วงเปลี่ยนปีโดยที่ไม่มีครอบครัวอยู่ด้วย...
.
...เพราะปรกติแล้ว ช่วงปีใหม่ทั้งสองช่วง (หมายถึงปีใหม่สากลและสงกรานต์) เป็นช่วงเวลาที่มีโอกาสได้อยู่กับครอบครัว แม้ไม่ใคร่ได้พบปะเพื่อนฝูงสมัยวัยละอ่อนแบบที่ใครๆ ทำกัน แต่ก็ไม่เป็นปัญหา แต่สิ่งสำคัญคืออยู่บ้านกับพ่อแม่ให้มากที่สุด เพราะเราอยู่ที่อื่น อยู่กับคนอื่นมาตลอดทั้งปี ก็มีแต่ช่วงนี้เราได้อยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน หรือได้ทำกับข้าวกินกันที่บ้านก็นับว่าเป็นเรื่องที่ทำให้สุขใจได้ดีประการหนึ่ง...
.
...ปี่ ๒๕๕๑ นั้นเป็นหนึ่งในน้อยครั้งที่ไป "ข้ามปี" ที่อื่น และที่บ้านเราเขาก็ไม่ได้ไปด้วย...
.

...ที่หมายคราวนี้คือ...พุทธคยาและพาราณสี...
.


มหาโพธิวิหาร ณ พุทธคยา อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ ที่หมายสำคัญในการจาริกครั้งนี้
(Ch@ros ฉายเมื่อ ปลายปี ๒๕๕๑)
.


.
...เดิมทีชาวคณะเราอันประกอบด้วยพี่ๆ ที่ทำงานสองท่านและผม ตั้งใจกันว่าจะไปกราบพระพุทธเจ้าที่อินเดียถึงสังเวชนียสถานทั้งสี่ตำบล ต่างก็ประชุมวางแผนเรื่องนี้กันมาระยะใหญ่ ก่อนทริปเชียงตุงเสียอีก แต่ที่สุดแล้วสมาชิกก็เหลือเพียงสองคน ที่จะต้อง "แบกแพ็ค" ไปปฏิบัติกิจของศาสนิกชน และปรับลดเป้าหมายลงมาเหลือเพียงพุทธคยา และพาราณสี เนื่องจากเวลาในการเดินทางมีน้อยลง คือลางานเพิ่มจากวันหยุดตามปฏิทินเพิ่มเพียง ๒ วันเพื่อไม่ให้กระทบกับงานมากนัก และในเวลานั้น เมืองไทยเราก็เพิ่งผ่านประสบการณ์สนามบินถูกสั่งปิดมาได้เพียงเล็กน้อย ซึ่งระยะที่เป็นปัญหานั้น เป็นช่วงที่เราได้จองอะไรต่ออะไรไว้ที่อินเดียแล้ว เพื่อให้สามารถดึงเงินที่สูญไปในการจองกลับคืนมาได้บ้าง เราจึงต่อรองและเลื่อนวันเดินทางออกมาเป็นช่วงนี้แทน... การที่เราตัดสินใจตัดที่หมายอื่นออกไปนั้นเพื่อให้ได้แสวงบุญ ณ สถานที่ที่มีความหมายจริงๆ ต่อพุทธศาสนิกชนที่มีเวลาเดินทางจำกัด นั่นคือ สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ คือ ตำบลพุทธคยา และสถานที่ซึ่งพระรัตนตรัยอุบัติโดยสมบูรณ์ คือตำบลสารนาถ ชานเมืองพาราณสี...
.
...ไปอินเดียครั้งนี้ก็หมายใจว่าจะได้บุญกลับมาฝากพ่อฝากแม่ที่บ้านบ้าง...เอาไว้ค้นรูปเจอแล้วจะนำมาโพสต์ประกอบเรื่องเล่าที่ค้างไว้ในความคิดเกือบสองปีให้ทุกท่านชมนะครับ...
.

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เปิดเทอมอีกแล้ว...

...เปิดเทอมทีไร ได้เวลาหาเรื่องใหม่ๆ ใส่ตัวทุกที...
.
.
.
...ดูเหมือนชีวิตจะวนเวียนอยู่ที่เดิมก็จริง แต่พ.ศ.นี้ดูเหมือนว่ามีอะไรใหม่ๆ หลายอย่างผ่านเข้ามาในชีวิตกับเขาเหมือนกัน...
.
...แน่นอนว่าแก่ลง...อันนี้ปรกติ...
.
...ไขว่คว้าหาเพื่อนฝูงมากขึ้นกว่าเดิม จากที่ไม่ค่อยกระตือรือร้นในเรื่องทำนองนี้... (ถึงจะช้าไปหน่อย...แต่ก็สมัคร facebook กับเขาแล้วล่ะ...)
.
...ย้ายที่อยู่...เดินทางมาทำงานนานอีกหน่อย แต่ก็ช่วยปรับนิสัยอะไรบางอย่างของเรามากขึ้น เช่นตื่นเช้าขึ้น (ซึ่งสอดคล้องกับข้อแรก คือแก่ลง ^^')...
.
...บางอย่างในชีวิตเริ่มเป็นระเบียบมากขึ้น ถึงแม้จะไม่มาก แต่ก็ O.K. อยู่...
.
...หวังว่าจะมีอะไรดีๆ ผ่านเข้ามาในชีวิตมากขึ้นนะ...
.

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

...จับเรื่องเล่า เอามาเรียง จากเชียงตุง (๕)...

...ถึงวันนี้ก็กว่าปีแล้วที่ผมไม่ได้หยิบเรื่องความทรงจำในระยะทางจากเชียงตุงมาเขียนอีกเลย นับแต่เดือนธันวาคม ปีกลาย เป็นความเฉื่อยชนิดหนึ่งซึ่งไม่น่ารักเอาเสียเลย...

...ระยะหลังนี้ไปรับเขียนให้ blog อื่นก็เหมือนเอาถ่านใหม่มาต่อไฟเก่า เป่าๆ เสียหน่อยก็น่าจะยังใช้การได้ เลยถือโอกาสต่อประเด็นที่ค้างไว้...

...ย้อนหลังให้นิดหน่อยนะครับว่าเราออกจากอำเภอแม่สายในช่วงเช้าราวแปดนาฬิกาที่ละอองฝนยังแผ่วๆ และพื้นถนนก็ยังหมาดๆ ค่าที่ยังไม่พ้นหน้าฝน แต่เมื่อถึงด่านชายแดนนั้นชาวคณะต่างก็เริ่มรู้สึกว่าจากนี้ไปคงจะไม่เจอฝนอีก และสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือแดดแรงๆ ในช่วงกลางวัน แม่หญิงในหมู่หลายท่านต้องรีบลงรถไปช้อปปิ้งหมวกปีกกว้างเป็นรายการแรกที่หน้าด่านก่อนที่จะข้ามไป...


...เมื่อดำเนินพิธีการผ่านแดนเสร็จ เราก็พบว่าพี่หลุยซึ่งเป็นมัคคุเทศก์อิมพอร์ตจากการท่องเที่ยวเมืองพม่ายืนรอเราอยู่พร้อมกับสาวๆชาวท่าขี้เหล็กที่ตั้งแถวรอยื่นดอกกุหลาบให้กับคณะนักท่องเที่ยวที่กำลังผ่านแดนเข้าไปฝั่งตลาดท่าล้อ ซึ่งผมเชื่อโดยสุจริตใจว่า เขาอาจไม่ได้เตรียมไว้ให้คณะของเราเพราะในวันนั้นมีขบวนคาราวานรถขับเคลื่อนสี่ล้อร่วมทางไปกับคณะเราด้วย ชะรอยดอกกุหลาบที่ตะละแม่ทั้งหลายยื่นมาให้เรานี้คงจะเป็นของคณะใหญ่นั้นเป็นมั่นคง เราก็คงต้องรับมาแล้วก็ทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้ไปเสียก็จบ...

.

...นี่น่าจะเป็นคาราวานเจ้าของดอกกุหลาบ...

...ขบวนน้อยๆ ของเราผ่านด่านไปอย่างแช่มช้า ก่อนจะเร่งเครื่องอย่างรวดเร็วหลังผ่านตัวตลาดมาแล้ว เพราะนัดหมายกับร้านอาหารที่เมืองเชียงตุงเอาไว้ แม้ว่ารถจะวิ่งเร็วก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทอดตาทอดใจไปกับทัศนียภาพระหว่างทางนัก ตัวผมเองอยู่ข้างจะโชคดีเพราะไม่ใคร่เมารถ การหาความเพลิดเพลินระหว่างเดินทางจึงทำได้ไม่ลำบากมากนัก...

...ในที่สุดก็มาถึงชานเมืองเชียงตุงจนได้ สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งนอกเหนือไปจากสารพัดด่านที่เจอแล้วก็คือ ด่านล้างรถเพื่อทำให้รถสะอาด (ตามสมควร) ก่อนเข้าเมือง หากคันไหนฝ่านมาแล้วยังเป็นรถบรรทุกฝุ่นอยู่ก็จะมีโทษ และต้องถูกปรับตามระเบียบของทางราชการ...ทั้งๆ ที่ถนนในเมืองก็สภาพไม่ต่างไปจากถนนภายนอกที่ก่อให้เกิดฝุ่นได้พอๆ กัน...


...มัคคุเทศก์อิมพอร์ตเลือกที่จะพาเรามารับประทานอาหารกลางวันก่อนเข้าไปยังที่พัก โดยพาพวกเราเข้าไปที่ร้านอาหารไทย (?) ชื่อร้าน "โลกตา" (Loketha) ซึ่งไม่ทราบว่าจะแปลว่ากระไรได้ มีท่านหนึ่งในหมู่สันนิษฐานว่ามันน่าจะเพี้ยนมาจาก โลกไทย เพราะคนไทยน่าจะมากินบ่อย...แต่ตอนนั้นคิดอะไรไม่ออกกันแล้ว ก็ได้แต่จ้วงกับข้าวกันเต็มเหนี่ยว อิ่มแล้วค่อยว่ากัน...

.
...ไทยมุงกับข้าวกั้นจิ๊น ห่อละ ๕ บาท...

...อาหารการกินในแต่ละมื้อที่ทัวร์จัดให้นั้น เรียกได้ว่าอิ่มหมีพีมัน และอุดมไปด้วยกับข้าวอย่างชาวสยาม/ไทยเมืองใต้ (ไม่ทราบว่าเพื่อเอาใจลูกค้าคนไทยมากไปหรือเปล่า) มีเพียงมื้อเดียวที่เป็นอาหารจีนแบบยูนนานคือหม้อไฟขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก...แต่กระนั้น ความซุกซนของเราๆ ก็ทำให้เที่ยวไปซอกแซกหาอะไรๆ ตามถนนสู่กันกินอยู่ดี เพราะการเดินทางครั้งนี้เรามาเพื่อที่จะมาหาอะไรที่ต่างออกไปจากที่เคยเจอเป็นประจำ อย่างน้อยผมก็มียาแก้ท้องเสียเตรียมไว้ (แต่ไม่ยักได้ใช้สักครั้ง) อาหารข้างถนนมื้อแรกๆ ที่ชวนกันกินก็คือข้าวกั้นจิ๊นที่แม่ค้ายืนขายอยู่หน้าวัดพระเจ้าหลวง/พระมหามุนี (ซึ่งโดยสภาพน่าจะเรียกว่าวิหารมากกว่าวัด เพราะเป็นอาคารหลังเดียวตั้งเป็นวงเวียนอยู่กลางเมือง) รสชาติใช้ได้ เยื้องๆ ไปหน่อยนั้นเป็นข้าวหลาม ขายอยู่ ๒ เจ้า ที่ถูกปากเจ้าหนึ่งแต่อีกเจ้าไม่ถูกปากเพราะคนหนึ่งใส่กะทิ อีกคนไม่ใส่ ดูแล้วใส่ถั่วเหมือนกัน ขายกระบอกละซาวบาท จัดว่าบอกผ่านไปเยอะเหมือนกัน...นอกนั้นไปเป็นร้านชำซึ่งขายขนมและน้ำดื่ม รวมทั้งของใช้กระจุกกระจิกภายในครัวเรือน และร้านขายโรตี+ขนมแขก แต่จำได้ว่าไม่ได้ชิมเพราะเล่นข้าวหลามไปแล้ว...เดี๋ยวจะจุกตายเสียก่อน...



...ข้าวหลามสองเจ้า คนใกล้ไม่ใส่กะทิ ถ้าอยากกินเหมือนกินที่บ้านเรา ต้องเดินต่อไปสักสิบเมตร...


...โรตีรสดีแผ่นใหม่ แผ่นหญ่ายๆ ส่ายข่ายส่ายโนม...นะนายจ๋า...


...คนเชียงตุงมีอะไรๆ กินกันหลายอย่าง แต่ไม่ได้ถูกนำมาสาธิตเป็นสำรับโชว์แบบที่เราเจอในสิบสองปันนา กระทั่งอาหารพม่าเองก็ไม่ถูกนำเสนอในเชิงท่องเที่ยวให้เราเห็น ทั้งๆ ที่การจัดสำรับอาหารในเชิงสาธิตนั้นเป็นทุนอย่างหนึ่งที่สามารถใช้นำเสนอเอกลักษณ์ของเมืองได้ ตอนที่อยู่เชียงรายเคยกินขนมเส้นน้ำคั่ว (เป็นขนมจีน ราดหมูสับผัดกับมะเขือเทศกับเครื่องอีกนิดหน่อย พอกรุ่นๆ หน้าตาเหมือนน้ำพริกอ่อง แต่ไม่ยักเผ็ดแล้วใส่ยอดถั่วลันเตาก่อนราดซุปร้อนจัดๆ) แม่ค้าบอกว่าสูตรจริงๆ มีทีเชียงตุง แต่ถ้าตามหาแถวแม่สายก็คงจะพอมีให้กินอยู่บ้าง...มาเชียงตุงงวดนี้ก็หมายใจว่าจะมาลองกินต้นตำรับ แต่ก็อด เพราะ ไม่รู้จะไปตามกินที่ไหน เนื่องจากไม่มีรายการในทัวร์...ถ้าผู้ประกอบการผ่านมาแล้วเผลออ่านเข้าก็น่าจะลองจัดอะไรๆ ทำนอง exotic food ที่เป็นเมนูสาธิตให้ลูกค้าของท่านบ้าง การเที่ยวนั้นน่าจะมีอรรถรสมากขึ้น มีอยู่ช่วงหนึ่งไปที่วัดสิงห์ขณะที่ธุลูงเจ้าอาวาสกำลังจะฉันจังหัน แล้วท่านปลีกตัวมารับแจก ซึ่งก็คือพวกเราก่อน สำรับของท่านจึงยังดูใหม่ๆ เราก็เลยแย่งกันถ่ายภาพกันใหญ่...


...สำรับจังหันของธุลุง...


...การไปตลาดอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่เราจะได้พบอาหารที่คนที่นั่นเขารับประทานกัน ในเช้าสุดท้ายที่เชียงตุงนั้นเราไปที่กาดหลวงเชียงตุงกันเท่าที่จะเช้าได้ แต่ก็อาจจะดูว่าสายไปสักหน่อยสำหรับการสวมวิญญาณพระยาน้อยชมตลาด เคราะห์ดีที่ตลาดยังไม่วาย เลยยังพอเดินเที่ยวชมอะไรๆ ได้บ้าง ชาวคณะเราบางท่านกินมื้อเช้าของโรงแรมเพียงเล็กน้อย เพื่อที่จะมาทำคะแนนในตลาด ซึ่งก็มีของให้กินเยอะ แต่ก็จะเลือกเฉพาะของที่ทำร้อนๆ ใหม่ๆ ซึ่งก็ไม่พ้นของทอดๆ ที่กินได้หน่อยก็ต้องหยุด เพราะยังต้องนั่งรถกันอีกไกล ยิ่งกินอะไรมันๆ เข้าไปมากจะเมารถง่ายขึ้น ที่ไม่ได้แวะกินคือโรตีโอ่งที่ปากทางเข้าตลาด เพราะเราคิดว่าตลาดมันกว้างแล้วเกรงจะเดินไม่ทั่ว ก็เลยอดๆ ไปก่อน ที่สุดก็เลยอดจริงๆ...




...โรตีโอ่ง...


...ของกินอร่อยๆ สนุกๆ ใช่ว่าจะมีแต่ในเมือง ออกมาทางนอก ที่บ้านปางควายก็มีของกินร้อนๆ อร่อยๆ (คือถูกปากเรา) อยู่เจ้าหนึ่ง เขาเรียกข้าวซอยน้อยหรืออะไรสักอย่างหนึ่งก็จำไม่ใคร่ได้เสียแล้ว แม่ค้าปลูกเพิงริมถนนหน้าบ้าน แล้วตั้งเตานึ่งทำนองข้าวเกรียบปากหม้อบ้านเรา มีพิมพ์แสตนเลสเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗-๘ นิ้ว ตักแป้งข้าวเจ้าลงกลิ้งๆ พอเหลือติดพิมพ์ขึ้นตั้งบนหม้อนึ่ง คะเนพอแป้งสุกก็เอาเครื่องลงซึ่งเท่าที่สังเกตดูก็มีผักเป็นส่วนมาก เอาน้ำตาลลง ตามด้วยพริกป่น ซีอิ๊วดำ แล้วก็เอาไม้งัดแป้งด้านหนึ่งขึ้นม้วนๆ แล้วเทลงจาน ตัดเป็นท่อนพอคำ ก็กินกันอร่อยไม่รู้แล้ว...เลยปางควายมาถึงปางล้อมีของเด็ดของดีอยู่ตรงนั้นอย่างหนึ่งคือไข่เยี่ยวม้า ไข่เยี่ยวม้าทางนี้มีเนื้อไข่ขาวออกสีส้มๆใสๆ ไข่แดงสีเหลืองแก่ๆ หม่นๆ คล้ายไข่แดงของไข่เค็มชนิดดองเกลือบ้านเรา กรุบๆ ทำยำกินกับข้าวต้มร้อนๆ ท่าจะเข้ากันดี...


...ของกินอร่อยๆ ริมทางที่บ้านปางควาย...


...นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...หากมีโอกาสได้ไปอีก คงต้องตกลงเรื่องอาหารกันเสียแต่เนิ่นๆ...


...จบเรื่องกินแล้ว คราวถัดไปจะเป็นเรื่องอะไร โปรดคอยตามพิจารณาดูนะครับ นึกอะไรออกก็จะเขียนให้อ่านกันเร็วๆ นี้ครับ เพราะตอนนี้ต้องออกเรื่องอินเดียกับสิบสองปันนาแล้วครับ ไม่งั้นจะลืมไปเสียก่อน... สวัสดีครับ...
.